WiFi6 คืออะไร แตกต่างกับ Wifi5 , WiFi6E ยังไง เทคโนโลยีใหม่ปี 2023
WiFi6 หรือ IEEE 802.11ax คือ ไวไฟที่อัปเกรดจากมาตรฐานเดิม IEEE 802.11ac ของ Wi-Fi 5 เพื่อรองรับปริมาณการการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับอุปกรณ์เชื่อมต่อมากมายทั้งหลายที่เราใช้งาน
WiFi6 คืออะไร แตกต่างกับ Wifi5 , WiFi6E ยังไง เทคโนโลยีใหม่ปี 2023
เราทุกคนต่างรู้ว่า Wi-Fi คือเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย ที่ช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือสื่อสารระหว่างกันได้แบบไร้สาย โดย Wi-Fi จะส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตในรูปแบบของคลื่นวิทยุความถี่สูง ผ่านอุปกรณ์กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต เช่น Router, Access Point หรือผ่านร่างแหไวไฟ (Mesh Wi-Fi)
ปัจจุบัน มีการใช้งาน Wi-Fi ตามบ้านเรือน และออฟฟิศสำนักงานเกือบทุกแห่ง รวมถึงพื้นที่สาธารณะอย่างร้านกาแฟหรือห้างสรรพสินค้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เราใช้งานทุกวันนี้ นับตั้งแต่สมาร์ทโฟน, แล็ปท็อป, แท็บเล็ต, ทีวี, เครื่องเล่นเกม, อุปกรณ์ VR, กล้อง CCTV, เครื่องเสียง, นาฬิกา, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องทำความร้อน, ตู้เย็น, เครื่องซักผ้าไปจนถึงกริ่งหน้าประตู ต่างก็เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้
กิจกรรมต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมงของชีวิตมนุษย์ในทศวรรษเกี่ยวพันกับโครงข่ายออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน, ดูหนัง, ฟังเพลง, เล่นเกม, หรือแม้กระทั่งพูดคุยกับเพื่อน เราล้วนทำได้สะดวกรวดเร็วและคล่องตัวผ่านเครือข่าย Wi-Fi จนแทบจะเรียกได้ว่า Wi-Fi เป็นเทคโนโลยีที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเรา และยากที่จะจินตนาการถึงโลกที่ปราศจากมันอีกต่อไป
แล้ว Wi-Fi 6 คืออะไรกันล่ะ? เพื่อที่จะทำความเข้าใจคำตอบของคำถามนี้ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ในตอนแรกที่มีการคิดค้นและพัฒนาระบบเครือข่ายไร้สายขึ้นมาในโลกนั้น ยังไม่มีการบัญญัติคำศัพท์ “Wi-Fi” ขึ้นมา แต่คำนี้เกิดขึ้นในภายหลัง
เข้าใจระบบ Wifi ก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ Wifi6
ระบบเครือข่ายไร้สาย (WLAN: Wireless Local Area Network) ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาภายใต้มาตรฐานหลักที่เรียกว่า “มาตรฐาน IEEE 802.11” มาตรฐานนี้กำหนดโดยสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ IEEE (The Institute of Electrical and Electronics Engineers) อันเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานการสื่อสารของระบบเครือข่าย เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในเครือข่ายไร้สายมีการผลิตและพัฒนาไปในทางเดียวกัน
ตัวมาตรฐานการสื่อสารไร้สาย IEEE 802.11 เองก็มีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเพิ่มตัวอักษรมาต่อท้าย เช่น 802.11a, 802.11b จนกลายเป็นมาตรฐานย่อยต่างๆ อีกมากมาย แต่ละมาตรฐานจะมีความเร็วและคลื่นความถี่สัญญาณแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น
มาตรฐาน | ย่านความถี่ | ความเร็วสูงสุด |
802.11a | 5 GHz | 54 Mbps |
802.11b | 2.4 GHz | 11 Mbps |
802.11g | 2.4 GHz | 54 Mbps |
แต่เดิมเราจะเรียกการเชื่อมต่อของระบบเครือข่ายไร้สาย ตามรหัสมาตรฐานของ IEEE ซึ่งยาวและจดจำได้ยาก
จนกระทั่งปี ค.ศ.2000 ทาง Wi-Fi Alliance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่เกิดจากการรวมตัวกันของบริษัทกลุ่มหนึ่ง ได้ทำการตั้งชื่อที่เรียกง่ายให้กับมันว่า “Wi-Fi” (จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า)
โดยนิยามว่า “Wi-Fi” หมายถึงกลุ่มของโปรโตคอลเครือข่ายไร้สายที่ใช้มาตรฐานเครือข่าย IEEE 802.11
ต่อมาในปี ค.ศ.2009 องค์กร Wi-Fi Alliance ได้เริ่มใช้ตัวเลขเพื่อแบ่ง Generation ของรูปแบบเครือข่ายไร้สายให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ Wi-Fi ตัวใหม่ล่าสุดในขณะนั้น เป็น Wi-Fi 4 และหลังจากนั้นก็มีการพัฒนาจนเป็น Wi-Fi 5 และ WiFi6 ขึ้นมาตามลำดับ
แล้ว WiFi6 จะช่วยยกระดับประสบการณ์ออนไลน์ของเราอย่างไรบ้าง?
คราวนี้เรามาเริ่มเจาะลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยี Wi-Fi 6 ที่เรียกได้ว่าเป็นพระเอกในการสื่อสารแบบไร้สายในยุค IoT ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยลดความแออัดในสถานการณ์การใช้ Bandwidth จำนวนมาก และสามารถทำความเร็วของการส่งผ่านอินเทอร์เน็ตได้มากพอๆ กันกับการเชื่อมต่อผ่านทางสาย LAN เลยทีเดียว
WiFi6 (IEEE 802.11ax) หรือที่เราเรียกกันว่า “Wi-Fi 6” หรือ “WiFi AX” หรือ “WiFi 802.11ax”
เป็นการอัปเกรดจากมาตรฐานเดิม IEEE 802.11ac ของ Wi-Fi 5 เพื่อรองรับปริมาณการการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับอุปกรณ์เชื่อมต่อมากมายทั้งหลายที่เราใช้งาน
จุดเด่นของ WiFi6 คือการปรับปรุงด้านความเร็ว, เพิ่มประสิทธิภาพ, สามารถรับส่งข้อมูลได้มากขึ้น, สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ในเครือข่ายจำนวนมากได้อย่างลื่นไหล, ใช้พลังงานน้อยลง และมีการเพิ่มประสิทธิภาพของคลื่นความถี่ (Wi-Fi Spectrum)
โดย Wi-Fi 6 สามารถทำงานได้ทั้งบนคลื่นความถี่ 2.4 GHz และ 5 GHz และสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 9.6 Gbps (นี่เป็นค่าสูงสุดทางทฤษฎี ความเร็วในการใช้งานจริงอาจไม่ถึงตัวเลขนี้ก็ได้ เนื่องจากมีการแชร์ไปในอุปกรณ์หลายเครื่อง อย่างไรก็ตาม เราจะสามารถเพลิดเพลินกับความเร็วแบบ Wi-Fi 6 ได้อย่างมีนัยสำคัญ)
Generation / IEEE Standard |
Year |
Frequency Bands |
Link Rate |
Wi-Fi 6 (802.11ax) |
2019 |
2.4 GHz / 5 GHz |
600 – 9608 Mbit/s |
Wi-Fi 5 (802.11ac) |
2014 |
5 GHz |
433 – 6933 Mbit/s |
Wi-Fi 4 (802.11n) |
2009 |
2.4 GHz / 5 GHz |
72 – 600 Mbit/s |
ฟีเจอร์ใหม่ๆ ในเทคโนโลยี Wifi6
Wi-Fi 6 นั้น มีเทคโนโลยีและฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่พัฒนาเพิ่มเติมขึ้นจาก Wi-Fi 5 หลายประการ ในบทความนี้จะไม่ลงรายละเอียดในส่วนของข้อมูลเชิงลึกหรือเชิงเทคนิคที่เข้าใจได้ยาก แต่จะกล่าวเฉพาะ Key Feature หลักๆ ที่ส่งผลประโยชน์ต่อผู้ใช้งานทั่วไป โดยเทคโนโลยีสำคัญที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเข้ามา ได้แก่
8×8 UL/DL Multi-user MIMO (MU-MIMO)
เทคโนโลยี MU-MIMO ทำให้อุกปกรณ์ต่างๆ ในเครือข่ายสามารถเข้าถึง Router ได้พร้อมๆ กัน โดยที่ Bandwidth ไม่ลดลง เป็นคุณสมบัติที่ถูกพัฒนาเพิ่มเติมจากฟีเจอร์ SU-MIMO (Single-User Multiple-Input Multiple-Output) ที่มีตั้งแต่สมัน Wi-Fi 4 ซึ่งเดิมไม่สามารถรับส่งข้อมูลไปยังหลายอุปกรณ์พร้อมกันในคราวเดียวได้ ต้องใช้การสลับสัญญาณไปมา
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า เมื่อมีอุปกรณ์หลายตัวเชื่อมต่อพร้อมกันอยู่ Router จะทำหน้าที่แจกสัญญาณ เหมือนคนแจกไพ่สลับไล่กันไปตามจำนวนผู้เล่นในวง ขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนผู้ใช้แทบจะไม่รู้สึกว่ามีการรอคิวอยู่แต่อย่างใด แต่หากมีอุปกรณ์เรียกเข้ามาพร้อมกันจำนวนมากก็จะเกิดปัญหาคอขวดในการรับส่งข้อมูลทันที ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เน็ตสะดุดนั่นเอง แต่ด้วยเทคโนโลยี MU-MIMO ทำให้ Wi-Fi รองรับการส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์หลายตัวภายในคราวเดียวกัน
อันที่จริงในยุค Wi-Fi 5 (wave 2) ก็มีการปรับปรุงให้เป็น MU-MIMO แล้ว แต่รองรับการใช้งานเพียงแค่ 4 สตรีม และยังทำงานเฉพาะในส่วนของการ downloads เท่านั้น แต่ด้วยคุณสมบัติ 8×8 UL/DL MU-MIMO ของ Wi-Fi 6 ที่มีมากถึง 8 Spatial Stream และยังส่งผลทั้งการอัปโหลดและดาวน์โหลด นั่นหมายความว่าไม่ว่าเราจะกำลังสตรีมมิ่ง กำลังดาวน์โหลด หรือแม้แต่กำลังเล่นเกม VR/AR, MMO หรือ RPG ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานอินเตอร์เน็ตแบบไหนก็เพียงพอสำหรับเรา ทั้งนี้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อก็ต้องรองรับ MU-MIMO ด้วยนะ ถึงจะใช้งานได้
แต่อย่าเข้าใจผิดล่ะ MU-MIMO ไม่ได้ทำให้อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น แต่ช่วยให้ความเร็วในการใช้งานไม่ลดลงในกรณีที่มีอุปกรณ์เชื่อมต่อพร้อมกันหลายตัว ทั้งนี้ MU-MIMO ส่งผลโดยตรงกับการใช้งานผ่าน Wi-Fi เท่านั้น จะไม่ส่งผลในกรณีเชื่อมต่อผ่านสายแลน และหาก Router ของเรารองรับ 8×8 MU-MIMO แต่เราเชื่อมต่ออุปกรณ์ไว้ 10 เครื่อง ก็จะมีบางเครื่องที่ต้องทำงานแบบ SU-MIMO
การส่งรับข้อมูลแบบ OFDMA (Orthogonal Frequency-Division Multiple Access)
เป็นคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ Bandwidth (ปริมาณการรับส่งข้อมูลในระบบ) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยการลดระยะเวลาที่ใช้ในการส่งข้อมูลไปกลับระหว่างอุปกรณ์ Client และอุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Router) ทำให้เหลือ Bandwidth ไว้ให้อุปกรณ์ตัวอื่นในเครือข่ายมากขึ้น
ในเครือข่าย Wi-Fi 5 ที่ใช้การรับส่งข้อมูลแบบ OFDM (Orthogonal Frequency-Division Multiplexing) อุปกรณ์ Client อาจต้องรอการรับหรือส่งข้อมูลบนเครือข่ายที่แออัด แต่ด้วยเทคโนโลยี OFDMA ซึ่งทำงานโดยเทคนิคการแบ่งซอยช่องสัญญาณเป็นคลื่นพาห์ย่อยเพื่อความเสถียรและการครอบคลุมที่มากขึ้น และอนุญาตให้สื่อสารกับอุปกรณ์ปลายทางหลายชนิด ได้ด้วยการส่งสัญญาณเพียงครั้งเดียวในแต่ละหน้าต่างรับส่งสัญญาณ ทำให้สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์หลายเครื่องพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น, ลดความหน่วงแฝง (Latency) และเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลในสภาพแวดล้อมที่มีการเชื่อมต่อหนาแน่น
Wi-Fi 6 มีการใช้ความยาวคลื่นใน OFDM symbol ถึง 4 เท่า เพื่อสร้างคลื่นพาห์ย่อยให้มากขึ้นถึง 4 เท่า ช่วยขยายการครอบคลุมให้มากขึ้นและเร็วขึ้นถึง 11% และหากเราเปรียบชุดสัญญาณ (Packet) ที่รับส่งระหว่าง Router และอุปกรณ์ในเครือข่ายเป็นรถบรรทุก แต่ละการส่งของรถบรรทุกแบบ OFDM (Wi-Fi 5) จะสามารถส่งข้อมูล 1 ครั้งต่อ 1 อุปกรณ์ แต่ด้วย OFDMA (Wi-Fi 6) จะทำให้ในแต่ละรถบรรทุก 1 คันสามารถส่งข้อมูลหลายๆ ข้อมูลไปยังหลายอุปกรณ์ได้พร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการอัปโหลดและดาวน์โหลด ดังนั้น หากเราเชิญกลุ่มเพื่อนมาปาร์ตี้ที่บ้าน ก็จะไม่มีปัญหาที่เพื่อนบางคนไม่สามารถ connect กับ Router ได้อีกต่อไป แค่คิดก็สนุกแล้วววว
Beamforming
เป็นเทคนิคในการส่งสัญญาณโดยบีบรัศมีให้แคบลง และยิงไปยังอุปกรณ์โดยตรง แทนที่จะปล่อยคลื่นไปทั่วทั้งห้อง ส่งผลให้การรับส่งราบรื่นขึ้นยิ่งกว่าเดิม เป็นเทคนิคที่มีมาตั้งแต่ Wi-Fi 4 และ Wi-Fi 5 แล้ว
Target Wake Time (TWT)
เป็นคุณสมบัติที่มีบทบาทสำคัญต่ออุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เป็นอย่างมาก โดยจะอนุญาตให้ Router ของเรา สามารถตรวจสอบอุปกรณ์ในเครือข่าย โดยเฉพาะอุปกรณ์พกพา และอุปกรณ์ IoT (ซึ่งโดยมากจะเป็นอุปกรณ์ประเภท Low-power Device) เพื่อให้ทราบได้ว่าจะมีการเชื่อมต่อเกิดขึ้นในตอนไหน ความถี่เท่าไหร่ และกำหนดตารางเวลาในการเชื่อมต่อสัญญาณ
หากตรวจสอบแล้วพบว่าช่วงเวลาใดไม่มีความจำเป็นต้องรับส่งข้อมูล ก็จะสั่งพักการเชื่อมต่อเอาไว้ก่อน เสมือนมี Sleep Mode ในขณะที่ไม่มีการรับส่งสัญญาณระหว่างกันนั่นเอง เรียกว่าเป็นฟีเจอร์ยอดประหยัด ที่ช่วยถนอมพลังงาน, ลดการบริโภคแบตเตอรี่, เพิ่มเวลาพักเครื่อง และยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ได้เป็นอย่างมาก แถมยังช่วยสงวน Bandwidth อีกด้วยนะ
BSS Coloring (Basic Service Set Coloring)
การรบกวนจากเครือข่าย Wi-Fi ที่อยู่รอบข้าง (Overlapping Basic Service Sets: OBSS) อาจทำให้เกิดปัญหากับสัญญาณ Wi-Fi ของคุณได้
ใน Wi-Fi เวอร์ชันก่อนหน้า อุปกรณ์ที่พยายามจะเชื่อมต่อกับเครือข่าย จะใช้กระบวนการ “ฟังก่อนพูดคุย” ซึ่งหมายความว่าอุปกรณ์เหล่านั้นต้อง “ฟัง” สัญญาณรบกวนทุกอย่างก่อนที่จะเริ่มส่งสัญญาณ หากมีสัญญาณรบกวนใดๆ ในช่องสัญญาณ แม้ว่าจะเกิดจากเครือข่ายที่อยู่ไกล อุปกรณ์เหล่านั้นจะต้องรอจนกว่าช่องสัญญาณจะมีความชัดเจน
แต่ด้วยเทคนิค BSS Coloring จะช่วยลดปัญหาการรบกวนกันเองของสัญญาณ โดยใช้วิธีกำหนดสีของสัญญาณ ทำให้สามารถทราบได้ว่า เป็นสีของสัญญาณข้อมูลที่มาจากเครือข่ายของเรา หรือสีของสัญญาณข้อมูลจากเครื่องส่งสัญญาณไร้สายบริเวณข้างเคียง หากตรวจพบการรับส่งข้อมูลอื่นๆ ในช่องสัญญาณ ที่ไม่ได้เป็นสีเดียวกันกับเครือข่ายของตนเอง อุปกรณ์จะ ignore และส่งสัญญาณต่อไป ทำให้เพิ่มความน่าเชื่อถือและปรับปรุงความหน่วงแฝง (Latency) ได้
ดังนั้น หากคุณอาศัยอยู่ในคอนโด หรืออาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีเพื่อนบ้านอยู่ติดกันมากๆ ฟีเจอร์ BSS Coloring จะช่วยให้ Router ของคุณจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องตั้งค่าอื่นๆ พิเศษเพิ่มเติม
การทำงานร่วมกันของ OFDMA และ BSS จะช่วยรักษาความเร็วและความเสถียรของการเชื่อมต่อ เพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นบนเครือข่ายที่แออัด
1024-QAM (1024 Quadrature Amplitude Modulation Mode)
QAM เป็นกระบวนการเข้ารหัส (Encoding) สัญญาณดิจิทัลในการรับส่งข้อมูล ซึ่ง Wi-Fi 6 สามารถส่งได้ถี่ถึง 1024-QAM มากกว่ามาตรฐานเดิมถึง 4 เท่า (จากเดิม 256-QAM ใน Wi-Fi 5) ทำให้การเชื่อมต่อในบริเวณที่มีอุปกรณ์แออัด อย่างเช่นห้างสรรพสินค้าหรือสนามกีฬา มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
และด้วยการเพิ่มค่าการ Modulation เป็น 1024-QAM ในแต่ละ symbol carries จากเดิม 8 bits เป็น 10 bits ทำให้ได้อัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับ 256-QAM ใน Wi-Fi 5 ช่วยให้คุณดู Netflix ที่บ้าน สลับกับไลฟ์สตรีมจาก Laptop ด้วยความเร็วที่เต็มประสิทธิภาพ และมอบประสบการณ์ออนไลน์ที่ดีมากขึ้นให้แก่คุณ
160 MHz Channel Bandwidth
ขยายความกว้างของช่องสัญญาณเป็นสองเท่า จากเดิม 80 MHz มาเป็น 160 MHz อันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ใหม่อะไร มีมาตั้งแต่ใน Wi-Fi 5 (wave 2) ที่เปิดตัวในปี 2016 ซึ่งสืบทอดมาใช้ต่อใน Wi-Fi 6 นี้ด้วย
ยิ่งช่องรับส่งข้อมูลมีความกว้างมากเท่าไหร่ ปริมาณข้อมูลที่รับส่งได้ก็จะยิ่งมากขึ้น ทำให้อินเทอร์เน็ตของคุณเร็วขึ้นกว่าเดิม เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเล่นเกมส์ VR หรือสตรีมหนัง 4K/8K ได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุด
ความแตกต่างระหว่าง Wi-Fi 5 กับ Wi-Fi 6
เทียบให้เห็นชัดๆ ว่า Wi-Fi 6 แตกต่างหรือดีกว่า Wi-Fi 5 ยังไง?
- Wi-Fi 6 มีความเร็วสูงสุดถึง 9.6 Gbps ในช่องสัญญาณต่างๆ สูงกว่า Wi-Fi 5 ที่มีระดับความเร็วสูงสุดที่ 6.9 Gbps ซึ่งความเร็วที่สูงกว่าถึง 40% นี้ จะช่วยลดปัญหาอาการแลคและหน่วง เพิ่มความเพลิดเพลินเวลาที่เราสตรีมวิดีโอ 8K หรือเล่นเกม VR
- Wi-Fi 6 รองรับมาตรฐานการรับส่งข้อมูล 1024-QAM ซึ่งค่า Modulation ที่มากกว่า 256-QAM ของ Wi-Fi 5 ถึง 4 เท่านี้ จะทำให้ Latency ลดลง, ปิงน้อยลง รองรับการใช้งานได้มากขึ้น
- Wi-Fi 6 รองรับ 8×8 UL/DL MU-MIMO ที่มีช่องดาวน์โหลด-อัปโหลด 8×8 ช่องสัญญาณ ช่วยให้รับส่งข้อมูลพร้อมกันหลายอุปกรณ์ได้ในคราวเดียวกัน เมื่อเทียบกับ Wi-Fi 5 (wave 1) ที่ส่งสัญญาณข้อมูลรูปแบบ SU-MIMO ซึ่งสามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ปลายทางได้ครั้งละหนึ่งเครื่องเท่านั้นในแต่ละช่องเครือข่าย ซึ่งเป็นการใช้ Bandwidth ที่มีอยู่อย่างไม่มีประสิทธิภาพใน Wi-Fi 5 (wave 1) นอกจากนั้น Wi-Fi 6 ยังสามารถสื่อสารในคราวเดียวกันไปยังอุปกรณ์ปลายทางจำนวนมากกว่า เมื่อเทียบกับ Wi-Fi 5 (wave 2) ที่ส่งสัญญาณข้อมูลรูปแบบ 4×4 DL MU-MIMO
- Wi-Fi 6 ใช้เทคโนโลยี OFDMA (Orthogonal frequency division multiple access) ที่แยกส่งสัญญาณข้อมูลออกเป็นคลื่นพาห์ย่อยๆ ทำให้สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์หลายชนิดได้ในการส่งสัญญาณครั้งเดียว ในขณะที่ Wi-Fi 5 ใช้เทคโนโลยี OFDM (Orthogonal Frequency-Division Multiplexing) ซึ่งอุปกรณ์ปลายทางแต่ละอย่าง ต้องรอคอยช่องสัญญาณว่าง จึงจะทำการสื่อสารสัญญาณได้
- Wi-Fi 5 ทำงานบนย่านความถี่ 5 GHz ในขณะที่ Wi-Fi 6 ทำงานได้ทั้งบนย่านความถี่ 2.4 GHz และ 5 GHz
- Wi-Fi 6 มีค่าความหน่วงแฝง (Latency) น้อยกว่า Wi-Fi 5
- Wi-Fi 6 สามารถแยกแยะสัญญาณในพื้นที่การใช้งาน Wi-Fi หนาแน่น ด้วยเทคนิค BSS Coloring ช่วยลดปัญหาการรบกวนกันเองของสัญญาณ ในขณะที่ Wi-Fi 5 ไม่มี
- Wi-Fi 6 มีฟีเจอร์ Target Wake Time (TWT) ที่สามารถหยุดพักการรับส่งข้อมูลชั่วคราว เมื่อไม่มีการรับส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ช่วยให้อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ทั้งหลายประหยัดพลังงาน และช่วยถนอมแบตเตอรี่ ในขณะที่ Wi-Fi 5 ไม่มีฟีเจอร์นี้
Wi–Fi Generation | Wi–Fi 5 | Wi–Fi 6 |
IEEE Standard | 802.11ac | 802.11ax |
Released Year | 2014 (2557) | 2019 (2562) |
Frequency Band | 5 GHz | 2.4 GHz & 5 GHz |
Channel Bandwidth | 20MHz, 40MHz, 80MHz 80+80MHz & 160MHz | 20MHz/40MHz @2.4 GHz, 80MHz, 80+80MHz & 160MHz @5 GHz |
FFT Sizes | 64, 128, 256, 512 | 64, 128, 256, 512, 1024, 2048 |
Subcarrier Spacing | 312.5kHz | 78.125kHz |
Highest Modulation | 256-QAM | 1024-QAM |
Maximum Transmission Rate | 6.9 Gbps | 9.6 Gbps (1.5 Gbps / device) |
SU/MU–MIMO | SU-MIMO (wave 1) 4×4 DL MU-MIMO (wave 2) | 8×8 UL/DL MU-MIMO |
OFDM/A | OFDM | OFDMA |
WiFi6 แจ่มว้าวขนาดนี้ ถ้าอยากจะใช้งานคุณสมบัติต่างๆ ที่กล่าวมา ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ถ้าเราต้องการใช้คุณสมบัติเจ๋งๆ ของ Wi-Fi 6 จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Router หรือ Access Point) รวมถึงอุปกรณ์รับสัญญาณที่รองรับ Wi-Fi 6 (802.11ax) ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่รองรับจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น ในราคาที่ถูกลง
แล้วอุปกรณ์ในระบบ Wi–Fi เวอร์ชั่นเก่าที่เรามีอยู่ จะสามารถทำงานเชื่อมต่อร่วมกับอุปกรณ์กระจายสัญญาณ WiFi6 ได้หรือไม่ ?
คำตอบคือ “ได้” เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยี Wi-Fi เวอร์ชันใหม่ จะถูกพัฒนามาให้รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์รุ่นเก่าได้ด้วย (Backward Compatible)
ตัวอย่างเช่น Wi-Fi 6 (802.11ax) ก็จะรองรับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์รุ่นก่อนหน้าที่ใช้มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac ได้
แต่!!!!!! อาจจะใช้คุณสมบัติบางประการที่เพิ่มมาใน Wi-Fi 6 ไม่ได้นะ (คือเชื่อมต่อได้ แต่อาจจะใช้ประโยชน์จากฟังก์ชันใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาไม่ได้)
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าอุปกรณ์ที่เราใช้งานอยู่ เป็นอุปกรณ์ที่รองรับ Wi–Fi เวอร์ชั่นไหน?
สามารตรวจสอบสเปกของตัวเครื่องที่เว็บไซต์ตรวจสอบสเปก และดูที่หัวข้อ ระบบเชื่อมต่อ / WLAN / Wi-Fi หรือ Wireless
Wi-Fi 6E คืออะไร และต่างจาก Wi-Fi 6 ยังไง?
Wi-Fi 6E คือ การต่อยอดจากเทคโนโลยี Wi-Fi 6 เพื่อจัดการปัญหาสัญญาณรบกวนจากอุปกรณ์รุ่นเก่าทั้งหมด โดยยังคงทำงานอยู่บนมาตรฐาน IEEE 802.11ax เหมือนเดิม แต่มาพร้อมความสามารถในการทำงานบนคลื่นความถี่ย่าน 6 GHz เพิ่มเติมจากย่านความถี่ 2.4GHz และ 5GHz
พูดง่ายๆ ได้ว่า เทคโนโลยี Wi-Fi 6E ก็คือ Wi-Fi 6 ขั้นกว่าที่รองรับการทำงานของคลื่น 6 GHz นั่นเอง
(ตัว E ที่ต่อท้าย มาจากคำว่า “Extension” ที่แปลว่า ส่วนต่อขยาย)
ทำไม Wifi6E ต้องขยายการใช้งานสู่ย่านความถี่ 6 GHz?
แต่เดิมทั้ง Wi-Fi 5 และ Wi-Fi 6 ต่างก็ทำงานอยู่บนสองคลื่นความถี่ คือ 2.4 GHz และ 5 GHz จากรายงานของ Cisco ระบุว่า ในปี 2018 มียอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกราว 3.9 พันล้านคน คิดเป็น 51% ของประชากรโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นถึง 5.3 พันล้านคนในปี 2023 ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ 66% หรือสองในสามของประชากรโลก
จำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น, จำนวนอุปกรณ์ IoT ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณการใช้งานที่ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ย่านความถี่ 2.4 GHz และ 5 GHz เริ่มที่จะไม่เพียงพอ
ในเดือนเมษายน ปี 2020 (พ.ศ. 2563) ทางคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (Federal Communications Commission (FCC)) จึงได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มความถี่ 6 GHz ให้เข้ามาอีกหนึ่งคลื่น ซึ่งเป็นคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า ทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อได้มากกว่าเดิม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
วัตถุประสงค์และจุดเด่นของ WI-FI 6E
Wi-Fi 6E ถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์หลักๆ ในการทำสิ่งที่ Wi-Fi 6 ยังทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ยังไม่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งานในสภาพแวดล้อมที่มีการเชื่อมต่อเป็นจำนวนมาก เช่น ในสถานที่อย่าง ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง สนามกีฬา หรือโรงงาน รวมไปจนถึงการสตรีมวิดีโอระดับ 4K หรือสูงกว่า และการใช้งานด้าน AR/VR เป็นต้น
การขยับไปใช้คลื่นความถี่ย่าน 6 GHz ทำให้ได้ความจุสัญญาณเพิ่มขึ้นมาถึง 1200 MHz ซึ่งมากกว่าสองเท่าของการนำเอาความจุสัญญาณของ 2.4 GHz และ 5 GHz มารวมกันเสียอีก
และด้วยความกว้างขนาด 1200 MHz นี้ ทำให้มันสามารถรองรับช่องสัญญาณขนาด 160 MHz ได้ถึง 7 ช่อง หรือขนาด 80 MHz ได้ถึง 14 ช่องเลยทีเดียว ทำให้มีความหน่วงแฝงในขณะเชื่อมต่อ (ดีเลย์ หรือปิง ตามแต่จะเรียก) ที่ต่ำมาก ๆ แม้ว่าจะเชื่อมต่อกับหลายอุปกรณ์ในคราวเดียวก็ตาม โดยทาง Broadcom Inc. ระบุว่า Wi-Fi 6E สามารถทำความหน่วงแฝงได้ต่ำที่สุด ‘ไม่ถึงมิลลิวินาที’ ภายในระยะห่างไม่เกิน 3 เมตรจาก Router หรือ Access Point
ทั้ง 3 ย่านความถี่ (2.4 GHz, 5 GHz และ 6 GHz) จะทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้ Wi-Fi เร็วขึ้น รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานได้กว้างกว่าเดิม ช่วยกำจัดพื้นที่อับสัญญาณ อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาสัญญาณตีกันบน 2.4 GHz และ 5 GHz ที่มีปริมาณผู้ใช้งานสูงได้อีกด้วย
ให้ลองจินตนาการภาพถนนที่มีรถเยอะและการจราจรติดขัด หากมีถนนเส้นใหม่เปิดเพิ่ม เราก็จะสามารถขับเต็มสปีดได้บนถนนโล่งๆ แถมถนนที่สร้างใหม่นี้ยังเปิดได้หลายเลน (ช่องสัญญาณ) และแต่ละเลนก็กว้างกว่าเก่าด้วย (Bandwidth) เพราะมีพื้นที่มากเพียงพอ (ความจุสัญญาณ)
คลื่นสัญญาณ 6 GHz ก็เป็นเหมือนทางด่วนที่เปิดเพิ่ม ทำให้รถ (สัญญาณข้อมูล) วิ่งรับส่งได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเชื่อมต่อกับหลายๆ อุปกรณ์พร้อมๆ กัน และยังช่วยให้เจ้าหน้าที่จราจร (ตัวปล่อยสัญญาณ) จัดการสัญญาณได้ง่ายขึ้น
Wi-Fi 6E เร็วกว่า Wi-Fi 6 แค่ไหน?
ในทางเทคนิค Wi-Fi บนย่านความถี่ 6 GHz มีความเร็วสูงสุด 9.6 Gbps เท่ากับบนย่านความถี่ 5 GHz ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดตามทฤษฎีของมาตรฐาน Wi-Fi 6 แต่ในการใช้งานจริง ความเร็วบนย่านความถี่ 5 GHz จะไม่ถึงระดับนั้น
ปัจจุบัน ความเร็วในการใช้งานจริงของ Wi-Fi 6 บนย่านความถี่ 5 GHz จะอยู่ที่ระดับ 1 Gbps ซึ่งก็สูงเพียงพอต่อผู้ใช้งานทั่วๆ ไปแล้ว แต่ด้วย Wi-Fi 6E ความเร็วที่เราสามารถใช้งานได้จริงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ถึง 2.5 เท่า ทำให้ความเร็วสูงสุดในการใช้งานจริงอยู่ระดับ 2 Gbps บนอุปกรณ์จำพวก Smart Phone และ Tablet เลยทีเดียว
เนื่องจากความถี่ 6 GHz ช่วยให้ช่องสัญญาณ (Channel) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีช่องสัญญาณ 80 MHz เพิ่มมาอีก 14 ช่อง และ 160 MHz เพิ่มมาอีก 7 ช่อง ทำให้ความเร็วในการใช้งานจริงสูงขึ้นกว่าเก่า ที่สำคัญคือ ช่องเหล่านี้ทำงานเป็นอิสระไม่ทับซ้อนกัน ช่วยลดความแออัดได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้งานในพื้นที่ที่มีเครือข่ายอยู่เป็นจำนวนมาก
จะใช้ WI-FI 6E ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Router หรือ Access Point) ไหม?
อุปกรณ์รุ่นเก่ารับส่งสัญญาณบนคลื่นความถี่ 2.4 GHz และ 5 GHz
แต่ Wi-Fi 6E นั้นทำงานบนคลื่นความถี่ 6 GHz ซึ่งเป็นย่านความถี่ใหม่ที่อุปกรณ์รุ่นเก่าไม่รองรับ
ดังนั้น หากต้องการใช้งานย่านความถี่ 6 GHz คุณต้องใช้ Router ที่มี Shipset ตัวใหม่ที่รองรับ Wi-Fi 6E
นอกจากนี้อุปกรณ์รับสัญญาณปลายทางที่จะมาเชื่อมต่อ ก็ต้องเป็นรุ่นใหม่ที่รองรับด้วยเช่นกัน
หลายฝ่ายให้ความเห็นตรงกันว่า Wi-Fi 6E คือการพัฒนาครั้งใหญ่ของ Wi-Fi ในรอบ 20 ปี และกำลังกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่อไร้สายควบคู่ไปกับ 5G และภายใน 1-2 ปีนี้ เราคงจะได้เห็นกันว่า การมาของ Wi-Fi 6E จะสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่โลกขนาดไหน สมกับที่หลายคนคาดหวังหรือไม่